รักนี้ไม่จำกัดเพศ มองความรักผ่านวัฒนธรรมวาย

เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่ชายกับหญิงตามเพศสภาพ ความรักจึงมีหลายรูปแบบ เพียงแค่ในอดีตเรายังติดกับกรอบแนวคิดที่จำกัดให้ความรักระหว่างชายและหญิงเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องที่ต้องหลบซ่อนเร้นไปโดยปริยาย แต่ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ถูกตีแผ่สอดแทรกไว้ตามภาพยนตร์ ซีรีส์ ไว้ให้รับรู้อยู่เสมอ จนกลายเป็นเรื่องทั่วไป ที่ไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองความรักแต่ยังกลับได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในแวดวงชายรักชายกับวัฒนธรรมวาย

จุดเริ่มต้น ชายรักชาย ความจิ้นในวัฒนธรรมวาย

การจิ้นเพศเดียวกันมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1979 ในการ์ตูนผู้หญิงในญี่ปุ่น แต่สำหรับประเทศไทย หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” ได้สร้างความรักในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาจนดังเปรี้ยงปร๊าง จากที่ถูกกดทับไว้ ก็ได้ผลิออกมากระตุ้นการรับรู้ของคนในสังคม ความรักเพศเดียวกันค่อย ๆ คลายออกมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันที่นิยายชายรักชายบูมขึ้นมาและเข้าถึงคนได้มากขึ้น นิยายวายเป็นสื่อหนึ่งในการทำความเข้าใจว่าคนที่รักเพศเดียวกันไม่ได้แตกต่างจากความรักของชายหญิงทั่วไปเลย และกลุ่มคนที่นิยมเสพสื่อประเภทนี้มาก ๆ ก็คือผู้หญิง นี่ไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เพราะผู้หญิงเหล่านี้ก้าวข้ามอคติความแตกต่างได้เท่านั้นเอง

 

ในบ้านเราการกำเนิดขึ้นของนิยายวายเริ่มต้นมาตั้งแต่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ผลิตซีรีส์วายที่ได้รับกระแสตอบรับดีแบบถล่มทลายอย่าง “Love sick: The Series” ในปี 2557 ที่มีการหยิบเอานิยายในเว็บเด็กดี ดอท คอม มาทำเป็นซีรีส์ โดยเรื่องราวชีวิต ความสัมพันธ์และความรักระหว่างวัยรุ่นของนักเรียนมัธยม โดยมีตัวละครเอกเป็นชายกับชาย หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนหยิบนิยายวายมาทำซีรีส์ทางโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ความปังก็ระเบิดออกไปยังต่างประเทศ ความรักชายรักชายยังถูกนำเสนอผ่านซีรีส์วายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงเรื่องล่าสุดอย่าง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ทำเอาสาว ๆ หนุ่ม ๆ นั่งจิกหมอนกันไปตาม ๆ กัน

วัฒนธรรมวาย = วัฒนธรรมเกย์ หรือไม่

วัฒนธรรมวายมีขนบอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้ชายในซีรีส์ชอบผู้ชายด้วยกันนั้น คือ ผู้ชายปกติที่ชอบผู้หญิง แต่ก็ชอบผู้ชายคนนี้คนเดียว เหมือนวรรคทองที่บอกว่า “เราไม่ได้ชอบผู้ชาย เราแค่ชอบนาย” นั่นหมายความว่าวัฒนธรรมวายไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกย์ แต่เกิดจากการจินตนาการของผู้หญิงในฐานะผู้สร้างและผู้เสพ เช่น เวลาเราเห็นผู้ชายตบหัวกัน ก็จะเข้าใจว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกัน แต่ในกลุ่มสาววายจะมองว่าพวกเขาลูบหัวกันด้วยความรัก

 

จนมาถึงซีรีส์ “เดือนเกี้ยวเดือน” ที่พลิกการจดจำภาพเดิม ๆ จากผู้ชายที่บุคลิกนุ่มนิ่มและมีอารมณ์อ่อนหวานคล้ายผู้หญิง แต่ในซีรีส์เรื่องดังกล่าวนี้ ตัวละครจะแสดงความเป็นชายที่แข็งแกร่งตามบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวังไว้ เพียงแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้เพิ่มเติมในเรื่องของความรักและความโรแมนติกในคนเพศเดียวกันเข้าไปเท่านั้น ในทางจิตวิทยา เราเรียกว่า Androphilia หมายถึงชายที่สามารถแสดงความรักและความเสน่หาทางเพศต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งความแข็งแกร่งของตัวเอง ดังนั้น ซีรีส์ เดือนเกี้ยวเดือนจึงตอกย้ำความเป็นชายที่มีคุณค่าทางเพศและกามารมณ์ เป็นการผลิตตัวแบบเพศสภาวะของชายชาตรีตามอุดมคติที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง ไม่เปราะบางและอ่อนแอแบบผู้หญิง

 

แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่าตัวนิยายต้นฉบับเรื่องเดือนเกี้ยวเดือนจะเป็นสื่อในการเปิดพื้นที่การรับรู้เพื่อให้สังคมได้มองเห็นความรักในอีกรูปแบบที่ต่างออกไปว่าผู้ชายก็สามารถแสดงความรักต่อกันได้ แต่ในนิยายยังคงเลือกนำเสนอแค่เพียงประสบการณ์ของวัยรุ่นชายที่หน้าตาดีและมีการศึกษาเท่านั้น นั่นอาจจะเป็นการแฝงนัยยะการปิดกั้นและเบียดขับให้กลุ่มผู้ชายที่หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ดี มีอายุมากกลายเป็นกลุ่มชายขอบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวหล่อหลอมหรือเป็นมายาคติให้สังคมเชื่อว่า จะต้องเป็นผู้ชายที่หน้าตาดีเท่านั้นที่จะได้รักหรือมีประสบการณ์ความรักดังกล่าวนั้นได้ นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคมผ่านทางวัฒนธรรมวายในรูปแบบการนำเสนอของนิยายหรือซีรีส์ เพื่อให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้มีตัวตน มีการแสดงออกได้มากขึ้น อันที่จริงแล้วความรักเพศเดียวกันนั้นไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนรัตนโกสินทร์ ที่ถูกเขียนในกลอนเพลงยาว เพียงแต่ในยุคนั้นจะใช้คำว่า “เล่นเพื่อน” ที่นิยามเหตุการณ์ความรักระหว่างหญิงกับหญิง
ดังนั้น ความรักเพศเดียวกันจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือเป็นแฟชั่น เพราะขึ้นชื่อว่าความรัก มันไม่จำกัดกับเพศอยู่แล้วค่ะ ทุกอย่างมันมาจากความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรักทั่วไปของชายและหญิง ชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง ความรักยังคงเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ คนจะรักกัน ไม่ได้สำคัญว่าเขาคือเพศไหน แต่อยู่ที่รักกับใคร และความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในหัวใจ เพราะคุณค่าของความรักไม่ได้วัดด้วยเพศ ท้ายที่สุดแล้ว ความรักไม่ว่าจะรูปแบบไหน ขอแค่ทั้งคู่เกื้อกูลกัน ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทุกความรักย่อมเป็นไปได้

 

1 thoughts on “รักนี้ไม่จำกัดเพศ มองความรักผ่านวัฒนธรรมวาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *