หาคำตอบ อยู่ก่อนแต่ง เวิร์คจริงหรือไม่ในสังคมไทย

คำถามโลกแตกของใครหลายคนที่ความรักใกล้สุกงอมเต็มที “อยู่ก่อนแต่ง” หรือ “แต่งก่อนอยู่” เมื่อขั้นต่อไปของความสัมพันธ์คือการใช้ชีวิตร่วมกัน แต่หากถือตามคำโบราณว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม ก็คงไม่ต้องคิดมากที่จะอยู่ฝั่งแต่งก่อนอยู่ และแน่นอนว่าฝั่งนี้เป็นฝั่งที่บรรดาผู้ใหญ่ยุคเบบี้บูมเชียร์ขาดใจกันอยู่แล้วค่ะ ที่เหล่าบรรดาคนเฒ่าคนแก่ย้ำกันปากเปียกปากแฉะว่า เป็นผู้หญิงควรจะต้องรักนวลสงวนตัว อย่าไปทำอะไรให้มันเสียหาย โดยเฉพาะเรื่องการมีคู่ครอง หากเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายที่จะเสียหายก็ไม่พ้นฝ่ายหญิง เพราะฉะนั้น การอยู่ก่อนแต่ง ในสายตาผู้ใหญ่ที่เคร่ง ๆ จริงจังเหมือนกับ “ผิดผี” เลยล่ะค่ะ แต่ทว่าในรุ่นเจน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ค่านิยมในการใช้ชีวิตคู่ก็เปลี่ยนไป การจะมารอแบบนั้น เห็นทีจะไม่ทันใจเสียแล้ว และยังไปสอดคล้องกับเรื่องที่คนสมัยนี้แต่งงานกันช้าลงอีกด้วย แล้วการอยู่ก่อนแต่ง มันเวิร์คจริง ๆ น่ะหรือ เราจะมาหาคำตอบนั้นกันค่ะ

 

จุดเริ่มต้นของการอยู่ก่อนแต่ง

การอยู่ก่อนแต่ง (Cohabitation) หมายถึง ความสัมพันธ์ของชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่อยู่กินฉันสามี ภรรยาหรือใช้ชีวิตร่วมกัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ซึ่งจุดกำเนิดของการอยู่ก่อนแต่งมีมาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนในโลกฝั่งตะวันตกแล้วค่ะ Bertrand Russell นักปรัชญาชาวอังกฤษได้เสนอแนวคิดการทดลองให้อยู่ก่อนแต่งเพื่อแก้ปัญหาการหย่าร้าง เขากล่าวว่า “ก่อนที่ชายหญิงจะแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ควรจะให้ทดลองอยู่ด้วยกันก่อน ๒ ปี และเมื่อหลังจากนั้นทั้งคู่พอใจและยินดีจะอยู่ร่วมกันต่อไป จึงค่อยแต่งงานกันอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าไม่พอใจกันก็เลิกรากันไปได้ ด้วยวิธีนี้การหย่าร้างจะลดน้อยลงแน่นอน” ข้อเสนอดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากเลยค่ะ แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ในสายตาของคนกลุ่มหนึ่งยังมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดขนบประเณี
ในขณะที่คนอีกกลุ่มกลับมองว่าวิธีการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อคู่รักในการสร้างครอบครัวร่วมกันในระยะยาว โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ต่อกันในระยะยาวและแง่สังคมเศรษฐกิจ จึงทำให้ค่านิยมนี้เป็นได้รับการยอมรับมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมตะวันตก และกำลังแผ่ขยายเข้าสู่สังคมไทย

 

อิสระ = ตัวเลือก

สำหรับสังคมไทย ค่านิยมการอยู่ก่อนแต่งนั้นได้รับการยอมรับมากในหมู่เจนวาย ซึ่งตามธรรมชาติของเจนวายนั้นจะชอบความมีอิสระ ไม่ชอบการผูกมัดไว้ในกรอบ ดังนั้นการอยู่ก่อนแต่งจึงเป็นวิถีการใช้ชีวิตอย่างอิสระที่พวกเขาโหยหา อย่างที่เราทราบกันดีว่า การแต่งงาน คือ การข้อผูกมัดอย่างหนึ่ง หากแต่งงานไปแล้ว ชีวิตคู่กลับไม่ได้สวยตามภาพฝัน การที่จะถอยหลังกลับ หรือการหย่าร้างก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันเยอะ แต่งงานบ่อย ๆ คนก็จะมองไม่ดี แต่งงานแล้ว อิสระในการเลือกก็หมดลง ตราบเท่าที่สถานะยังคง “โสด” ก็ยังสามารถทำอะไรก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ออกมาว่า ปัจจุบันคนเจนวายแต่งงานกันช้าลง เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องการความคล่องตัวสูง ท้าทาย มีอิสระ และยังไม่ต้องการการผูกมัด เช่นเดียวกับเรื่องแต่งงาน ที่ยังคงอยากที่จะเลือกได้อีก

 

เหตุผลที่คนเลือกที่จะอยู่ก่อนแต่ง

อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงแรกว่า การอยู่ก่อนแต่งเกิดขึ้นจากความรักที่ล้นปรี่ จนจะรอไม่ได้แล้ว หรือความคิดในเชิงสังคมเศรษฐกิจว่า การแต่งงานจะต้องเสียเงินไปมากขนาดไหนในการจัดงาน กลายเป็นความกังวลไม่น้อย ถ้าต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ เรารวบรวมเหตุที่คนเลือกที่จะอยู่ก่อนแต่งมาไว้แล้ว

1. รอไม่ไหวแล้ว ความรักมันล้นใจ เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร เมื่อรักมาก ก็ต้องการที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้เร็วที่สุด เหตุผลในเรื่องของความพึงพอใจในกันและกัน ต้องการผูกมัดอีกฝ่าย

2. ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะการแต่งงานเป็นเรื่องสำหรับคนที่พร้อม ภาพฝันงานแต่งงานสวยหรู ไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งหมดล้วนแล้วต้องใช้เงินแลกมาทั้งนั้นค่ะ โดยเฉพาะฝ่ายชาย หลายคนก็กังวลเรื่องของสินสอด เพราะปัจจุบันกลายมาเป็นเครื่องวัดความมีหน้ามีตาของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งในบางคู่นั้นกว่าจะเก็บเงินจัดงานแต่งได้ คงต้องรอกันไปอีกหลายปี

 

3. ความรอบคอบ มีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวชีวิตคู่ล้มเหลวมากกว่ากลัวถูกนินทา จึงเลือกที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน เพื่อศึกษา เรียนรู้ นิสัยในด้านที่เราไม่เคยเห็น เรียกว่าเป็นการอยู่เพื่อเรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของกันและกันนั่นเองค่ะ ปกติคู่รักจะได้เจอหน้ากัน ได้มีกิจกรรมร่วมกันเป็นครั้งคราว ซึ่งก็ยังบอกไม่ได้ว่าอีกฝ่ายดีจริง ๆ หรือไม่ จนกว่าจะได้มาลองใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง

4. เหตุผลทางจิตวิทยา อย่างเรื่องเซ็กส์ มีผลสำรวจออกมากว่าครึ่งที่หลังจากแต่งงานกันแล้ว ชีวิตคู่ต้องจบลงเพราะเซ็กส์เข้ากันไม่ได้ รวมไปถึงสถานะชั่วคราวของการอยู่ก่อนแต่ง จะส่งผลผลักดันให้คู่รักหลายคู่ขาดแรงจูงใจที่จะศึกษา เรียนรู้กันและกันอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้การแต่งงานอาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต

สรุปได้ว่าการอยู่ก่อนแต่งนั้นจะเวิร์กหรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคมของคู่รักและการเรียนรู้ตัวตนระหว่างกันและกัน ในช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน

4 thoughts on “หาคำตอบ อยู่ก่อนแต่ง เวิร์คจริงหรือไม่ในสังคมไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *