ใครเป็นสายดื่มชาอาจจะเคยได้ยินชื่อของ “คอมบูชา (Kombucha)” กันมาบ้างแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาก็เป็นกระแสนิยมกันมาสักพัก กับชาหมักที่มิธีการทำที่แสนจะน่าตื่นตาตื่นใจ ราวกับได้แปลงร่างเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำการทดลองเจ้าสิ่งนี้ ทั้งยังมาพร้อมรสชาติที่แสนแปลกใหม่ และสรรพคุณที่เหลือล้น เขาว่ากันว่าคอมบูชาดีต่อสุขภาพมาก ๆ แต่จะเป็นอย่างไรนั้น ตามไปดื่มด่ำและทำความรู้จักชาชนิดนี้กันค่ะ
Kombucha ของดีอายุกว่าพันปี
คงมีคนกำลังสงสัยอยู่ว่าชาชื่อประหลาดนี้มันเป็นชาแบบไหนกัน จริง ๆ แล้ว คอมบูชา (Kombucha) คือ ชาที่นำไปหมักกับน้ำตาล จุลินทรีย์ และยีสต์ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนออกมามีรสเปรี้ยว ซ่า และมีกลิ่นของแอลกอฮอล์เล็กน้อย ซึ่งในชานี้จะมีส่วนผสมหลักอย่างกรดน้ำส้ม (Acetic Acid) รวมถึงวิตามินบีและสารต่าง ๆ
หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของคอมบูชา ราว ๆ สัก 2,000 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ฉิน ของจีน โดยมีการค้นพบว่าจิ๋นซี ฮ่องเต้เป็นคนปรุงเครื่องดื่มนี้เป็นคนแรก เพื่อใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนชื่อนั้นไม่ได้มีเสี้ยวของภาษาจีนเลยค่ะ แต่ตามประวัติศาสตร์มีแพทย์ชาวเกาหลีคนหนึ่งชื่อ Komu-ha ได้ถวายการรักษาองค์จักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่น จึงสันนิษฐานว่าอาจจะนำชื่อของแพทย์ท่านนี้มาตั้งเป็นชื่อชา
ส่วนผสมของ Kombucha
อย่างที่พูดไปในตอนต้นว่าคอมบูชาเกิดจากการนำชามาหมักกับน้ำตาล จุลินทรีย์ และยีสต์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย หากเกินกว่านั้นรสจะเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชูจนทานไม่ได้
เราสามารถทำคอมบูชาเองได้ไหม
คำตอบคือได้แน่นอนค่ะ โดยเริ่มจากนำใบชาเขียวหรือชาดำ มาต้มในน้ำเดือดประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้น้ำร้อนเป็นตัวสกัดเอาสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ในชาออกมา แล้วจึงกรองใบชาแยกไว้ เติมน้ำตาลซูโครสในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อไว้เป็นอาหารของจุลินทรีย์ แล้วทิ้งทิ้งไว้จนเย็น จากนั้นให้เทใส่ภาชนะที่ไม่ใช่โลหะหรือพลาสติก เนื่องจากคอมบูชามีฤทธิ์เป็นกรด หากคุณใช้ภาชนะเหล่านั้น คุณจะได้รับสารพิษจากภาชนะนั้นปนเปื้อนไปด้วย ให้เราค่อย ๆ เติมจุลินทรีย์ที่ชื่อว่า SCOBY (a Symbiotic Colony of Bacteria and Yeast : ส่วนผสมของแบคทีเรียและยีสต์ที่หมักจนเกดเป็นแผ่นวุ้นหยุ่น ๆ บนผิวน้ำ ลักษณะคล้ายเห็ด ทำหน้าที่ย่อยสลายน้ำตาลให้เป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย)
คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
เขาว่ากันว่าคอมบูชานั้นดีต่อร่างกายเยอะแยะไปหมด แต่ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ทานไปแล้วจะเกิดผลเสียต่อร่างกายไหม กินไปนาน ๆ เข้า ร่างกายจะเป็นอะไรหรือเปล่า คุณประโยชน์ต่อสุขภาพของคอมบูชา มีดังนี้
เป็นแหล่งโพรไบโอติกส์
ด้วยกระบวนการหมักคอมบูชาทำให้เกิดจุลินทรีย์ตัวดีอย่างโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่มาก ซึ่งมีผลดีต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย เพราะโพรไบโอติกส์จะเข้าไปทดแทนจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีที่ระบบย่อยอาหารสูญเสียไปจากสาเหตุต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และไขมันสะสมที่หน้าท้อง
ประโยชน์ข้อนี้ สาว ๆ หลายคนอาจจะตาโต อยากได้หน้าท้องที่แบนราบไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะหากใช้ชาเขียวในการหมัก จะได้รับสารพอลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่ดีต่อร่างกาย กระตุ้นการเผาผลาญแคลอรี ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ลดการสะสมสารตกค้างในตับและไต
ใน Kpmbucha จะมีกรด กลูคูโรนิก (Glucuronic Acid) และสาร DSL (D-saccharic acid-1, 4-lactone) ที่ลดการสะสมสารตกค้างในตับและไต รวมถึง ช่วยล้างพิษหรือของเสียตกค้างในร่างกาย เหมือนไป reset การทำงานในร่างกายซะใหม่
ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
สืบเนื่องจากการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เนื่องจากภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีปริมาณไขมันที่มากเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือดและก่อให้เกิดโรคดังกล่าวตามมาได้
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
ปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่อยู่ในชา ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักใน Kombucha มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง รวมทั้งช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
Kombucha มีกรดอะมิโน (Amino Acid) และกรดนิวคลีอิก (Nucleic Acid) ทำให้ คอมบูชา ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมเซลล์กับเนื้อเยื่อในร่างกาย
ออกฤทธิ์กำจัดแบคทีเรีย
อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น ว่า Kombucha มีกรดน้ำส้มเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และยังต้านเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย แม้ว่าคุณสมบัติด้านนี้จะมีผลต่อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จะไม่ทำให้จำนวนโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีลดน้อยลงไปด้วย
Kombucha มีแต่ประโยชน์จริงหรือ
จริง ๆ แล้ว Kombucha ก็เหมือนอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง อย่างเรื่องของกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดมากพอ อาจนำไปสู่การปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาชนะที่ใช้บรรจุ อย่างภาชนะเหล็กหรือภาชนะเคลือบก็สามารถปล่อยสารพิษออกมา ส่งผลให้ผู้ที่ทานอาจเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อาทิ ท้องเสีย ปวดท้อง ติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นต้น
แม้ว่า Kombucha จะมีประโยชน์อย่างที่ว่า ๆ มาข้างต้น แต่หากสาว ๆ คนไหนอยากจะลองทำเอง อย่าลืมที่จะรักษาความสะอาดระหว่างกระบวนการทำด้วยนะคะ และควรทานทีละน้อย ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลได้ก่อน